Audience ของ Essay คือ “ผู้อ่าน” นั่นเอง ถูกต้องแล้วครับ แต่ไม่ใช่ว่าเราทราบเพียงเท่านี้แล้วจะจบนะครับ Audience ของ Essay มีความสำคัญต่อการเขียนในหลายๆ ด้าน ซึ่งบทความนี้จะช่วยให้เราเข้าใจและเขียนถึงผู้อ่านที่เหมาะสมในการเขียน Essay เชิงวิชาการครับ
Audience ของ Essay นั้น สำคัญไฉน?
ในขณะที่เรากำลังเขียน Essay ไม่ว่าเราจะคิดอย่างมีสติหรือไม่ก็ตาม เราอาจจะลืมไปว่าจริงๆ แล้วเรากำลังเขียนถึงใครบางคนอยู่ ซึ่งนั่นก็คือ ผู้อ่าน ของเรานั่นเองนะครับ บางครั้งผู้อ่านเป็นกลุ่มผู้อ่านทั่วไป บางครั้งอาจเป็นคนที่เรารู้จัก และบางครั้งเราเขียนเพื่อให้ตัวเองอ่าน การคำนึงถึงผู้อ่านในขณะที่เราเขียน สามารถช่วยให้เราตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้นเกี่ยวกับเนื้อหาที่จะเขียนลงไป วิธีการจัดระเบียบความคิด และ ช่วยให้เราหาวิธีที่ดีที่สุดในการสนับสนุนข้อโต้แย้งใน Essay ของเราได้ครับ เพื่อให้เห็นกระทบที่ผู้อ่านมีต่อการเขียน Essay ของเรา ลองนึกภาพว่าเรากำลังเขียนจดหมายถึงคุณยายดูนะครับ เรากำลังจะเขียนเรื่องราวเพื่อบอกให้คุณยายทราบเกี่ยวกับชีวิตการเรียนในมหาวิทยาลัยของเราในเดือนแรกๆ ลองนึกดูว่าเราจะใส่รายละเอียดและเรื่องราวใดบ้าง เราจะเลือกที่จะไม่เขียนเรื่องใดบ้าง หลังจากนั้นลองนึกภาพว่าเรากำลังเขียนหัวข้อเดียวกัน แต่เขียนถึงผู้อ่านที่เป็นเพื่อนสนิท เป็นไปได้ว่าเรื่องราวทั้งสองจะแตกต่างกันมากทั้งในแง่ของเนื้อหา โครงสร้าง หรือแม้แต่น้ำเสียง (เว้นเสียแต่ว่า คุณยายจะเป็นคนที่คูลมากๆ หรือไม่ก็สนิทกับเรามากๆ นะครับ)
แล้ว “อาจารย์” ไม่ใช่ “ผู้อ่าน” หรอกหรือ?
ใช่ครับ อาจารย์คือผู้อ่านที่แท้จริงของ Essay ของเรา อาจารย์อ่านและให้คะแนน Essay ดังนั้นเราต้องคำนึงถึงความต้องการและมุมมองของอาจารย์ที่อาจจะมีต่อ Essay ของเรา อย่างไรก็ตาม เมื่อเราเขียน Essay โดยนึกถึงอาจารย์ในฐานะผู้อ่านเท่านั้น เราอาจเขียนไม่มากเท่าที่ควร หรือไม่เขียนให้ชัดเจนเท่าที่ควร ทั้งนี้ เพราะเราอาจจะคิดว่าคนที่ให้คะแนนมีความรู้มากกว่าที่เรามี ดังนั้น เขาคงจะเดาได้ถึงข้อมูลต่างๆ ที่เราละไว้ แต่จริงๆ แล้ว ท้ายที่สุดแล้วอาจารย์จะต้องตัดสินใจว่าเรากำลังเขียนถึงอะไรจริงๆ และเขาอาจตัดสินใจต่างไปจากที่เราคาดไว้ก็ได้นะครับ ตัวอย่างเช่น อาจารย์อาจตัดสินใจว่าสิ่งที่เราละไว้ (ไม่ได้เขียนลงไปในเนื้อหา) แสดงว่าเราไม่เข้าใจเนื้อหาอย่างแท้จริง สมมติว่าเราเขียน Essay เกี่ยวกับ “อิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่มีต่อเศรษฐกิจ” เราอาจจะคิดไปเองว่า ไม่จำเป็นต้องอธิบายเกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสต์อะไรนักหรอก เพราะอาจารย์รู้เรื่องนี้มากกว่าที่เรารู้ ผลลัพธ์ก็คือ อาจารย์ Comment กลับมาว่าเราไม่แสดงความเข้าใจในลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างเพียงพอ นี่เป็นตัวอย่างของสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อเราคิดว่าอาจารย์คือผู้อ่านคนเดียวของเราครับ
การพิจารณาเกี่ยวกับผู้อ่านที่แตกต่างกันไป สามารถช่วยปรับปรุงงานเขียนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของความชัดเจนในการแสดงความคิดเห็นของเราเอง ยิ่งเรานำเสนอประเด็นชัดเจนมากเท่าใด เราก็ยิ่งมีโอกาสที่จะเขียนแสดงจุดยืนหรือใจความหลักของเราได้อย่างแข็งแกร่งมากขึ้นเท่านั้นครับ อาจารย์จะ Comment กลับมาว่า เราเข้าใจคอมมิวนิสต์จริงๆ เพราะสามารถอธิบายได้อย่างเรียบง่ายและชัดเจนมาก เอาจริงๆ การกระทำแบบนี้ สะท้อนความคิดที่ว่าอาจารย์คือผู้อ่านที่ฉลาดแต่ไม่มีความรู้ ซึ่งจะทำให้เราสามารถเขียนบอกเล่าเรื่องราวให้อาจารย์อ่านได้อย่างชัดเจน และมีประสิทธิภาพมากขึ้นครับ
วิธีการระบุว่าใคร คือ “ผู้อ่าน”
ก่อนที่เราจะเริ่มกระบวนการเขียน ให้ใช้เวลาพิจารณาว่าใครคือผู้อ่าน และสิ่งที่พวกเขาต้องการจาก Essay ของเราคืออะไร ลองถามตัวเองด้วยคำถามดังต่อไปนี้ดูนะครับ ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถระบุผู้อ่าน และระบุสิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อสนองความต้องการของพวกเขาครับ
(1) หัวข้อ Essay มีการระบุเกี่ยวกับผู้อ่านหรือไม่?
(2) ผู้อ่านต้องการอะไร?
(3) ผู้อ่านคือใคร?
(4) ผู้อ่านมีมากกว่าหนึ่งคนหรือไม่?
(5) ถ้าเป็นเช่นนั้น เรามีผู้อ่านกี่คน ใครบ้าง?
(6) ทัศนคติของผู้อ่านเป็นอย่างไร?
(7) ผู้อ่านต้องการข้อมูลสถิติเพื่อโน้มน้าวใจหรือไม่?
(8) ผู้อ่านมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมหรือไม่?
(9) ผู้อ่านมีแนวโน้มที่จะสนใจอะไรน้อยที่สุด?
(10) ผู้อ่านให้คุณค่ากับอะไร?
(11) เราควรอธิบายมากแค่ไหน?
(12) เราต้องการให้งานเขียนสื่อถึงความประทับใจอย่างไร?
(13) เราต้องเขียนอะไรที่อาจทำให้ผู้อ่านประหลาดใจ?
จริงๆ แล้วคำถามเหล่านี้ยากอยู่นะครับ ดังที่บทความนี้ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ เราต้องแสดงให้อาจารย์เห็นว่าเรารู้และเข้าใจเนื้อหา แต่ Assignment Instruction ที่แตกต่างกันในแต่ละครั้ง แต่ละวิชานั้น อาจะต้องการระดับข้อมูลที่แตกต่างกัน สาขาวิชาต่างๆ มีความคาดหวังที่แตกต่างกันเช่นกัน จุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดในการค้นหาว่าเราควรเขียนเกี่ยวกับแต่ละส่วนของ Essay มากน้อยเพียงใด คือ การอ่านงานที่ได้รับมอบหมายอย่างรอบคอบ Assignment Instruction หรือเอกสารการมอบหมายงาน อาจระบุว่าใครคือผู้อ่าน Essay ยกตัวอย่างเช่น บางครั้งอาจารย์จะให้เราจินตนาการว่าเรากำลังเขียนถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บางครั้งก็ให้เขียนเพื่อเสนอผู้จัดการบริษัท บางครั้งก็อาจจะให้เขียนถึงกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะ หรือแม้กระทั่งเขียนถึงกลุ่มเพื่อนฝูง (แม้กระทั่งผู้อ่านที่อาจรย์สมมติขึ้นเอง) แต่ถ้าหากงานไม่ได้ระบุว่าใครคือผู้อ่าน เราอาจจะจินตนาการว่าเพื่อนร่วมชั้นของเรานั่นล่ะครับ คือ Audience ของ Essay ของเรา ซึ่งมีประโยชน์มากกว่าที่จะมองว่าผู้อ่านคืออาจารย์ ตอนนี้ เมื่อเราพอจะทราบแล้วว่าใครคือผู้อ่าน ลองพิจารณาเพิ่มเติมอีกว่าเราได้เบาะแสอะไรอีกบ้างจาก Assignment Instruction หาก Assignment Instruction ระบุให้เราสรุปบางสิ่งที่เราได้อ่าน ดังนั้น ถือได้ว่าผู้อ่านต้องการให้เราระบุตัวอย่างจากข้อความที่เราอ่าน มากกว่าการขอให้เราตีความข้อความทั้งหมดเพียงอย่างเดียว Assignment ส่วนใหญ่ในระดับมหาวิทยาลัยมุ่งเน้นไปที่การโต้แย้งมากกว่าการ Copy ข้อมูลที่เราได้เรียนรู้ ดังนั้น ผู้อ่านอาจต้องการให้เราวิเคราะห์ข้อความ เหตุการณ์ หรือแนวคิด ซึ่งเราต้องแน่ใจว่าสิ่งที่เราอธิบายเกี่ยวกับเนื้อหานั้นมีความละเอียด ครอบคลุม และมีตัวอย่างที่ชัดเจน
เอาละครับ เมื่อได้เริ่มลงมือเขียนแล้ว ให้ลองให้ใครสักคนลองอ่านเนื้อหาของเรา อาจจะเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนก็ได้นะครับ คราวนี้ลองถามเขาว่าเข้าใจ หรือ ไม่เข้าใจอะไรบ้าง หากผู้อ่านมีคำถามมากมายเกี่ยวกับสิ่งที่เราเขียน เราอาจต้องเขียนอธิบายเพิ่มเติม สมมติว่าเรากำลังเขียน Essay เกี่ยวกับ “ปลาปิรันย่า” และผู้อ่านถามกลับมาว่า “ปลาปิรันย่าคืออะไร? ทำไมเราต้องรู้เกี่ยวกับปลาปิรันย่า” นี่เป็นคำถามสำคัญที่เราต้องตอบอย่างชัดเจนใน Essay เราต้องใส่รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะต่างๆ ของปลาปิรันย่าครับ หากผู้อ่านดูสับสน เราอาจต้องอธิบายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ถ้าเขาถามว่า “แถวนี้มีปลาปิรันย่าไหม?” เราอาจไม่จำเป็นต้องยกตัวอย่างเพิ่มเติม แต่ให้เน้นที่การทำให้ตัวอย่างและประเด็นชัดเจนยิ่งขึ้น หากผู้อ่านดูเบื่อหน่าย นั่นอาจหมายความว่าเราอธิบายมากเกินไป รายละเอียดที่มากเกินไปอาจทำให้สับสนได้ อาจทำให้ผู้อ่านงง และทำให้ผู้อ่านไม่จดจ่อกับใจความหลัก บางครั้งไม่ใช่แค่คำอธิบายที่มีความสำคัญ แต่เป็นการเลือกคำและน้ำเสียง การเลือกคำและโทนเสียงต้องตรงกับความคาดหวังของผู้อ่าน ลองคิดดูนะครับ ว่าบทความเกี่ยวกับปลาปิรันย่าใน National Geographic กับวารสารวิชาการวิทยาศาสตร์ จะใช้คำและน้ำเสียงที่เหมือนกันไหม National Geographic เขียนสำหรับผู้อ่านทั่วไป อาจจะมีประโยค เช่น “ปลาปิรันย่ามักอาศัยอยู่ในแม่น้ำและลำธารน้ำตื้นในอเมริกาใต้” ในทางกลับกัน ในวารสารทางวิทยาศาสตร์ อาจมีการใช้ภาษาเชิงเทคนิคมากกว่า (เพราะเป็นวารสารสำหรับผู้อ่านที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ) ดังนั้น ในวารสารดังกล่าว อาจจะมีประโยค เช่น “ปลาปิรันย่า Serrasalmus อาศัยอยู่ในเขตกึ่งร้อน” โดยทั่วไป เราต้องการให้ผู้อ่านทราบเกี่ยวกับเนื้อหาเพียงพอที่จะเข้าใจประเด็นหลักที่เรากำลังนำเสนอ ดังนั้นการเลือกคำและน้ำเสียง ตลอดจนระดับเนื้อหาที่เหมาะสมถือว่ามีความสำคัญมาก
ลองอ่าน Essay ที่ตนเองเขียนในฐานะ Audience ของ Essay
ในฐานะผู้เขียน เรามักจะอ่าน Essay ของตนเองอย่างรวดเร็ว โดยรู้ว่าเรากำลังพยายามโต้แย้งอะไรอยู่ (ในใจ) การอ่านในลักษณะนี้อาจทำให้เราข้ามช่องโหว่ (Gap) ในข้อโต้แย้งได้ เนื่องจากเราเติมช่องว่างด้วยตัวเองแล้ว (ในใจ) ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อผู้อ่านเจอช่องโหว่เหล่านี้ ผู้อ่านต้องการให้เราสร้างการเชื่อมโยงที่จำเป็นจากประโยคหนึ่งไปยังอีกประโยคหนึ่ง ถ้าเราไม่ทำ ผู้อ่านอาจจะสับสนได้ ลองนึกถึงเวลาที่เราพยายยามอ่านอะไรบางอย่าง และพยายามค้นหาประเด็นที่สำคัญที่สุด ฟังดูน่ารำคาญนะครับ ลองคิดว่าเราคือ “ผู้อ่าน” แทนที่จะอ่านฉบับร่าง Essay ราวกับว่าเราเขียนเอง และรู้ไปซะหมดว่าเราหมายถึงอะไร ให้ลองอ่านราวกับว่าเราไม่มีความรู้เกี่ยวกับเนื้อหา Essay มาก่อนเลย เมื่ออ่านจบแล้ว ลองถามกับตัวเองว่า เราอธิบายเพียงพอหรือไม่ การเชื่อมโยงมีความชัดเจนหรือไม่ จริงๆ แล้วการทำแบบนี้อาจเป็นเรื่องยาก ลองใช้วิธีนี้ดูนะครับ ลองพักจากการเขียน ออกไปเดินเล่น นอน กินข้าว แล้วค่อยกลับมาอ่าน (นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงต้องเขียน Essay ให้เสร็จ 1–2 วันก่อนวันส่งงานจริง) หากเราเขียน Essay ในคืนก่อนถึงวันส่งงาน เราอาจจะไม่มีเวลาอ่านงานที่ตัวเองเขียนได้เลย ท้ายที่สุดแล้ว ลองร่างใจความสำคัญจากสิ่งที่เราเขียน ลองแยกดูแต่ละย่อหน้า เขียนประเด็นหลักของแต่ละย่อ แล้วกลับมาดูที่ “Outline” ของ Essay ที่เราได้ทำไว้ก่อนเริ่มเขียน พิจารณาว่ามันสะท้อนถึงสิ่งที่เราตั้งใจจะเขียนในลำดับที่สมเหตุสมผลหรือไม่ ลองดูว่าบางย่อหน้าทำความเข้าใจได้ยากเกินไปไหม อาจจะลองอ่านออกเสียงดู จะให้เราจับข้อผิดพลาดระดับประโยคได้ เช่น การสะกดผิดและคำที่ขาดหายไปด้วยครับ เทคนิคเหล่านี้สามารถช่วยให้เราอ่าน Essay ในลักษณะเดียวกับที่ผู้อ่านจะทำ ทำให้เราสามารถแก้ไขให้ผู้อ่านเข้าใจข้อโต้แย้งของเราได้
การวิเคราะห์ผู้อ่านมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจว่าควรเขียนอะไรในแต่ละ Essay การรู้จักผู้อ่านจะช่วยบอกเกี่ยวกับการจัดโครงสร้างเนื้อหา ภาษา และโทนเสียงที่จะใช้ ข้อมูลประเภทใดที่จะใช้ และความคืบหน้าหรือการเชื่อมโยงในแต่ละหัวข้อ แม้ว่าน้ำเสียงที่เราใช้ในการเขียนเชิงวิชาการจะแตกต่างจากการเขียนทั่วไป แต่เราสามารถปรับข้อความของเราตามผู้อ่านได้ เราต้องมีข้อมูลเฉพาะเกี่ยวกับผู้อ่าน ข้อมูลเกี่ยวกับความเข้าใจและทัศนคติที่มีต่อเรื่องที่เรากำลังเขียน เมื่อมีข้อสงสัย ให้ลองถามอาจารย์นะครับ
🖱️ ข้อมูลอ้างอิงบทความ “Audience ของ Essay คือใคร?” — [1], [2]
บทความโดย ทีมนักเขียน HW
Academic Writing Experts
LINE id: @orderwork
🆕 Live Chat 💬 คลิ๊กที่นี่
Facebook Messenger 📱 คลิ๊กที่นี่
📖 คลิ๊กเพื่ออ่านบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ