การเขียน Literature Review คืออะไร?
คลังศัพท์ไทย โดย สวทช. ให้ความหมายภาษาไทยของคำว่า Literature Review ว่า การทบทวนวรรณกรรม ครับ ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ปรากฏคำว่า “ทบทวนวรรณกรรม” ครับ แต่มีคำว่า ทบทวน หมายถึง ย้อนกลับทำซํ้าอีกเพื่อให้แม่นยำ เช่น ทบทวนตำรา และ พิจารณาอีกครั้งหนึ่งฯ ส่วน วรรณกรรม หมายถึง งานหนังสือ, งานประพันธ์, บทประพันธ์ทุกชนิด ทั้งที่เป็นร้อยแก้ว และ ร้อยกรองฯ ถ้าอย่างนั้น การเขียน Literature Review หรือ การทบทวนวรรณกรรม น่าจะหมายถึง “การพิจารณางานหนังสืออีกครั้งหนึ่ง” ใช่ไหมครับ? ฟังดูแปลกหู อ่านดูก็แปลกตา
ผมอยากให้คุณเข้าใจว่า Literature Review หรือ การทบทวนวรรณกรรม คือ สิ่งหนึ่งที่คุณต้องทำในการทำวิจัย วิทยานิพนธ์ หรือ แม้กระทั่งเขียน Essay โดยเฉพาะ Essay ที่ต้องให้เหตุผลเกี่ยวกับแนวคิดบางอย่างที่คุณเห็นว่าถูกต้องและมีหลักฐานสนับสนุน เพราะ Literature Review คือ การสำรวจวรรณกรรม หรือ บทความทางวิชาการในหัวข้อที่เฉพาะเจาะจง เพื่อนำเสนอ ภาพรวมของความรู้ในปัจจุบัน ของหัวข้อต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถระบุทฤษฎี วิธีการ รวมถึง ช่องโหว่ หรือ Gap ที่มีอยู่ในแหล่งข้อมูลทางวิชาการเหล่านั้น ดังนั้น การเขียน Literature Review หมายถึง การค้นหาบทความ เพื่อนำมาวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ และ อธิบายสิ่งที่พบครับ
แหล่งข้อมูลทางวิชาการ อาจหมายถึง งานเขียนทางวิชาการ งานวิจัย บทความวารสาร บทความวิชาการ ผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ หนังสือ เอกสารทางวิชาการในรูปแบบต่าง ๆ และ บทความอื่น ๆ ที่ได้รับการเผยแพร่ ทั้งในรูปแบบออนไลน์และ ตีพิมพ์ มีประโยชน์ในการใช้เป็นบทความอ้างอิงได้ครับ แล้วแต่ที่คุณจะเลือกใช้ครับ ซึ่งในบทความนี้ มีวิธีในการเลือกบทความที่จะนำมาใช้ในการเขียน Literature Review ด้วยครับ |
การเขียน Literature Review ที่ดีนั้น ไม่ได้เป็นเพียงการสรุปเนื้อหาที่ได้จากบทความเท่านั้น แต่เป็นการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และ ประเมินบทความอย่างมีวิจารณญาณ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนของสถานะความรู้ในเรื่องนั้น ๆ ขอเพิ่มเติมเล็กน้อยนะครับ คำว่า อย่างมีวิจารณญาณ หมายถึง การใช้ปัญญาไตร่ตรองพิจารณาบทความ โดยใช้ความรู้ ความคิด และ ประสบการณ์ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจอันสอดคล้องกับหลักการและเหตุผลครับ
ประโยชน์ของ Literature Review
ในขณะที่คุณกำลังเขียนงานวิจัยใด ๆ คุณจะต้องเขียน Literature Review เพื่อจัดที่จัดทางความรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน อันเกี่ยวข้องกับหัวข้องานที่คุณกำลังทำ กล่าวในเบื้องต้น การเขียน Literature Review มีประโยชน์หลัก ๆ ดังนี้ครับ
– ช่วยสร้างความคุ้นเคยกับบริบททางวิชาการของหัวข้อวิจัย
– ช่วยพัฒนากรอบทฤษฎี และ ระเบียบวิธี สำหรับการวิจัยของคุณ
– ช่วยจัดวางตำแหน่งของตนเองให้สัมพันธ์กับนักวิจัยท่านอื่น
– ช่วยสร้างโอกาสในการระบุช่องโหว่ที่จะนำไปสู่การวิจัยในอนาคต
ในบางครั้ง คุณอาจมีโอกาสเขียน Literature Review แม้ไม่ได้เขียนงานวิจัยอย่างเต็มรูปแบบ หรือ การเขียน Literature Review แบบ Stand-Alone เช่น อาจารย์มอบหมายให้ไปเขียน Literature Review เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ในกรณีนี้ วัตถุประสงค์ของการเขียน Literature Review คือ การประเมินสถานะปัจจุบันของการวิจัยในหัวข้อดังกล่าว และ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการอภิปรายทางวิชาการในแง่มุมต่าง ๆ อันเกี่ยวข้องกับหัวข้อนั้น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเขียน Literature Review สำหรับงานวิจัย หรือ การเขียน Literature Review แบบ Stand-Alone ขั้นตอนในการเขียนจะเป็นไปตามขั้นตอนเดียวกันครับ
การเขียน Literature Review ประกอบด้วย 5 ขั้นตอนสำคัญ
1. การค้นหาบทความ
2. การประเมินความเกี่ยวข้องของบทความที่ได้จากการค้นหา
3. การเชื่อมโยงสาระสำคัญในบทความต่าง ๆ และ การระบุช่องโหว่ (Gaps)
4. การจัดองค์ประกอบ Literature Review
5. การลงมือเขียน Literature Review
1. การค้นหาบทความ
ก่อนที่คุณจะเริ่มค้นหาบทความเพื่อนำมาเขียน Literature Review คุณต้องมี หัวข้อวิจัย (Research Title/ Topic) ที่ชัดเจนก่อนนะครับ |
ไม่ว่าจะเป็นหัวข้อที่คุณสนใจทำการวิจัยด้วยตนเอง หรือ หัวข้อที่ได้รับมอบหมาย ในส่วนของการวิจัย คุณจะต้องค้นหาบทความที่เกี่ยวข้องกับคำถามวิจัย (Research Questions) ในส่วนของการเขียน Literature Review แบบ Stand-Alone คุณจะต้องเลือก จุดศูนย์รวม หรือ จุดสำคัญ (Focus) ในบริบททางวิชาการ เพื่อพัฒนาคำถามกลาง ๆ สำหรับใช้กำหนดการค้นหา และคุณควรจะตอบคำถามกลาง ๆ นี้ได้จากการศึกษาบทความที่มีอยู่เท่านั้น ซึ่งจะแตกต่างจากคำถามวิจัยครับ คำถามวิจัยอาจจะตอบได้โดยไม่ต้องรวบรวมบทความที่มีอยู่ เพราะผู้วิจัยกำลังจะดำเนินการวิจัยเพื่อค้นหาคำตอบนั่นเองครับ
ลองใช้ตัวอย่างคำถามวิจัยนี้นะครับ: “What is Social Media Impact on Gen-Zers’ Body Image?”
จากคำถามวิจัยนี้ คุณจะต้องสร้างรายการ Keywords (คำสำคัญ) โดยเริ่มต้นจากระบุตัวแปรหรือปัจจัยหลักที่ต้องศึกษา ตลอดจน คำพ้องความหมาย และ คำที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ คุณสามารถเพิ่ม Keywords อื่นได้ในกระบวนการค้นหาบทความ ตัวอย่าง Keywords จากคำถามวิจัยข้างต้น ได้แก่:
Social media
และ คำที่เกี่ยวข้อง เช่น Facebook, Twitter, Instagram, TikTok, Snapchat
Body image
และ คำที่เกี่ยวข้อง เช่น self-esteem, self-perception
Gen-Zer
และ คำที่เกี่ยวข้อง เช่น Generation Z, adolescents, teenagers, youth
เมื่อได้ Keywords มาแล้ว ให้เริ่มค้นหาบทความจากฐานข้อมูลสำหรับการค้นหาวารสารและบทความต่าง ๆ อาทิ Google Scholar, Library Catalogue of University, EBSCO, JSTOR, Medline, Project Muse เป็นต้น ณ จุดนี้ จะมีบทความมากมายให้คุณเลือกอ่าน ดังนั้น อ่านบทคัดย่อ (Abstract) ของบทความเหล่านั้นครับ แล้วจึงพิจารณาว่ามีความเกี่ยวข้องกับคำถามวิจัยของคุณหรือไม่ เมื่อพบบทความที่เป็นประโยชน์แล้ว คุณสามารถดูที่บรรณานุกรม (References) ของบทความนั้น เพื่อค้นหาบทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วยครับ
2. การประเมินความเกี่ยวข้องของบทความที่ได้จากการค้นหา
ความท้าทายหลักที่คุณจะเจอในการค้นหาบทความก็คือ “คุณไม่สามารถอ่านทุกบทความที่เคยมีคนเขียนไว้” เกี่ยวกับหัวข้อวิจัยของคุณได้อย่างแน่นอนครับ! ดังนั้น คุณจึงต้องประเมินบทความ โดยให้มีความเกี่ยวข้องกับคำถามวิจัยของคุณมากที่สุด วิธีในการการประเมินความเกี่ยวข้องของบทความคือ การถามตนเองด้วยคำถามต่อไปนี้ ซึ่งจะช่วยให้คุณแน่ใจว่าบทความที่คุณกำลังจะใช้นั้น มีประโยชน์ต่องานวิจัยของคุณครับ:
– ผู้เขียนกำลังตอบคำถามอะไรอยู่
– แนวคิดหลักของผู้เขียนคืออะไร
– ผู้เขียนอ้างอิงทฤษฎีใด
– ผู้เขียนใช้วิธีการใดในการวิจัย
– ผู้เขียนสร้างกรอบการวิจัยใหม่ หรือ ใช้กรอบการวิจัยที่มีอยู่
– ข้อสรุปคืออะไร
– บทความนี้เกี่ยวข้องกับบทความอื่น ๆ อย่างไร
– บทความนี้มีส่วนช่วยให้เข้าใจหัวข้อวิจัยของเราได้อย่างไร
– อะไรคือจุดแข็ง/ จุดอ่อนของบทความนี้
วิธีในการระบุแหล่งข้อมูลที่สำคัญที่สุด คือ การดูสถิติการอ้างอิงครับ ยิ่งบทความนั้นได้รับการกล่าวถึงในบทความอื่น ๆ มากเท่าไหร่ นั่นหมายถึงการเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญครับ จำนวนการอ้างอิงที่สูง หมายความว่าบทความนั้นมีความสำคัญ หรือ มีอิทธิพลในสาขานี้ ซึ่งมักจะเป็นบทความที่ควรค่าแก่การนำมาเขียนใน Literature Review ของคุณครับ คุณสามารถตรวจสอบว่ามีการอ้างถึงบทความใน Google Scholar เป็นจำนวนกี่ครั้ง ดังรูปต่อไปนี้ครับ
ขอบเขตของการประเมินความเกี่ยวข้องของบทความที่ได้จากการค้นหานั้น ขึ้นอยู่กับระยะเวลาด้วยนะครับ ในทางวิทยาศาสตร์คุณอาจจะศึกษาบทความใหม่ ๆ เป็นหลัก แต่ในทางมนุษยศาสตร์ คุณอาจใช้มุมมองทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมาใช้ใน Literature Review ของคุณได้ครับ ต่อไปเป็นการบันทึกและและข้อมูลการอ้างอิงบทความครับ ในขณะที่อ่านบทความที่ได้จากการค้นหา คุณควรจดบันทึกข้อมูลสำคัญไว้ (จากที่ถามตัวเองจากข้างต้น) เพื่อจะได้สามารถนำมาใช้ในกระบวนการเขียน Literature Review ในภายหลังได้ครับ สิ่งสำคัญคือการอ้างอิงบทความอย่างถูกต้องเพื่อหลีกเลี่ยง Plagiarism (การโจรกรรมทางวิชาการ/ การคัดลอกผลงาน/ การขโมยความคิดของคนอื่น) ดังนั้น การทำ Annotated Bibliography ช่วยคุณได้ครับ เพราะจะมีการระบุการอ้างอิง และ คำอธิบายประกอบซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการการวิเคราะห์ต่อไป
3. การเชื่อมโยงสาระสำคัญในบทความต่าง ๆ และ การระบุช่องโหว่ (Gaps)
ก่อนจะจัดระเบียบองค์ประกอบใน Literature Review คุณจะต้องเข้าใจความเชื่อมโยง และ ความสัมพันธ์ระหว่างบทความที่คุณอ่านและได้จดบันทึกไว้ โดยดูจาก แนวโน้ม รูปแบบ (ทฤษฎี วิธีการ หรือ ผลลัพธ์) ความนิยมของแนวทาง หรือ แนวคิดที่ใช้ ข้ออภิปราย (เกิดความขัดแย้งหรือมีบทความที่ไม่เห็นด้วยหรือไม่) มีทฤษฎี หรือ การศึกษาที่มีอิทธิพลในการเปลี่ยนทิศทางการวิจัยในสาขาหรือไม่ เป็นต้น สิ่งที่สำคัญที่สุดในขั้นตอนนี้ คือ การระบุ ช่องโหว่ ซึ่งจะช่วยให้คุณกำหนดองค์ประกอบของ Literature Review และ แสดงให้เห็นว่างานวิจัยของคุณจะนำไปสู่ความรู้ใหม่ได้อย่างไร
ช่องโหว่ (Gaps) หมายถึง สิ่งใด ๆ ที่ยังไม่ปรากฏในบทความวิจัย หรือ บริบททางวิชาการในปัจจุบัน เป็นพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการสำรวจ หรือ อยู่ระหว่างการสำรวจ อาจหมายถึงประชากร หรือ กลุ่มตัวอย่าง วิธีการวิจัย การรวบรวม หรือ การวิเคราะห์ข้อมูล หรือ ตัวแปร ตลอดจน เงื่อนไขการวิจัยอื่น ๆ วิธีในการหาช่องโหว่ คือ การทบทวนวรรณกรรมอย่างละเอียดถี่ถ้วน การอ่านอย่างมีวิจารณญาณ อย่างกว้างขวาง ด้วยเป้าหมายคือการหาพื้นที่ในการมีส่วนร่วมการวิจัยใหม่ ๆ กระทำได้โดยการรวบรวมบทความวิจัยที่หลากหลายในหัวข้อที่คุณสนใจ เมื่อคุณเริ่มรวบรวมบทความวิจัย คุณจะต้องอ่านอย่างมีวิจารณญาณเพื่อหาสิ่งที่มี หรือ สิ่งที่งานวิจัยยังไม่สามารถให้คำตอบได้ ให้เน้นในส่วนของการอภิปราย และ การวิจัยในอนาคต เพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่นักวิจัยค้นพบ และ พื้นที่สำหรับการวิจัยในอนาคตครับ |
ตัวอย่างของช่องโหว่ ที่อาจมีสำหรับหัวข้อ “What is Social Media Impact on Gen-Zers’ Body Image?” ที่คุณสามารถทำการวิจัยได้ ได้แก่:
– การวิจัยส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่ผู้หญิง
💡 ช่องโหว่ = การวิจัยที่ศึกษากลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ชาย และ/หรือ LGBTQ+ ด้วย มีอยู่น้อย หรือ ยังไม่มี
– มีข้อมูลของ Social Media ในภาพรวมเป็นจำนวนมาก
💡 ช่องโหว่ = การวิจัยเกี่ยวกับแพลตฟอร์มมีการแชร์ภาพถ่ายเป็นหลัก เช่น Snapchat และ Instagram มีอยู่น้อย หรือ ยังไม่มี
4. การจัดองค์ประกอบ Literature Review
มีหลากหลายวิธีในการจัดองค์ประกอบ Literature Review โดยการจัดองค์ประกอบที่ได้รับความนิยมที่สุด คือ การจัดตามลำดับเวลา ซึ่งเป็นแนวทางที่ง่ายที่สุด เพราะเป็นการติดตามพัฒนาการของหัวข้อตามช่วงเวลาต่าง ๆ แต่ถ้าหากคุณเลือกวิธีนี้ ก็ไม่ควรสรุปบทความตามลำดับเท่านั้น ควรมีการวิเคราะห์รูปแบบ จุดเปลี่ยน และ การถกเถียงสำคัญ ที่กำหนดทิศทางของการวิจัยที่เกี่ยวข้อง ตีความว่าพัฒนาการเหล่านั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร และ ด้วยเหตุผลใด การจัดองค์ประกอบที่ได้รับความนิยมอีกวิธีหนึ่งคือ การรวบรวมเฉพาะประเด็น เป็นการรวบรวมประเด็นหลักที่ได้รับการศึกษาซ้ำ ๆ โดยให้บทความต่าง ๆ เป็นส่วนย่อยของประเด็นต่าง ๆ ของหัวข้อวิจัย ตัวอย่างเช่น หากคุณกำลังศึกษาจากบทความเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมด้านสุขภาพของผู้พลัดถิ่น ประเด็นสำคัญอาจประกอบด้วย นโยบายด้านการดูแลสุขภาพ อุปสรรคด้านภาษา ทัศนคติทางวัฒนธรรม สถานะทางกฎหมาย และ การเข้าถึงทางเศรษฐกิจ การจัดองค์ประกอบที่ได้รับความนิยมอีกวิธีหนึ่งคือ การจัดตามระเบียบวิธีวิจัย เช่น การจัดตามผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการวิจัยเชิงคุณภาพ และ เชิงปริมาณ เชิงประจักษ์ และ เชิงทฤษฎี เป็นต้น
5. การลงมือเขียน Literature Review
ตอนนี้คุณพร้อมลงมือเขียน Literature Review แล้วครับ Literature Review ควรมี บทนำ เนื้อหา และข้อสรุป บทนำมีความสำคัญครับ ในบทนำควรมีการกำหนดวัตถุประสงค์ของ Literature Review อย่างชัดเจน หากคุณกำลังเขียน Literature Review เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย คุณควรกล่าวถึงคำถามวิจัยด้วย หากคุณเขียน Literature Review แบบ Stand-Alone คุณควรอธิบายภูมิหลังเกี่ยวกับหัวข้อ ความสำคัญของอภิปราย ขอบเขตของบทความที่คุณศึกษาค้นคว้า (เช่น ช่วงเวลา) และ วัตถุประสงค์ของการเขียน Literature Review นี้
บทความโดย ทีมนักเขียน HW
Academic Writing Experts
LINE id: @orderwork
🆕 Live Chat 💬 คลิ๊กที่นี่
Facebook Messenger 📱 คลิ๊กที่นี่
📖 คลิ๊กเพื่ออ่านบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
HW ให้บริการ รับทำ Literature Review |