การโจรกรรมทางวิชาการ หรือ Plagiarism คือ อะไร
นิยามคำว่า “Plagiarism”
Plagiarism คือ อะไร? — การโจรกรรมทางวิชาการ — การคัดลอกผลงาน หรือ ขโมยความคิดของคนอื่น โดยไม่อ้างอิงให้ถูกต้อง
การกระทำที่เข้าข่าย Plagiarism ได้แก่ การคัดลอกข้อความ หรือ ความคิดของผู้อื่นโดยไม่อ้างอิง หรือ ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องในแหล่งที่มาของข้อความที่นำไปใช้ ไม่ใช้เครื่องหมาย “…” เพื่อแสดงว่าคัดลอกมา ฯลฯ
สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ได้แก่
(1) ระบบอินเทอร์เน็ตที่ทำให้เข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และ ง่าย
(2) ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้สำเนาข้อมูล (Copy/Paste) ง่าย
Plagiarism ถือเป็นการแสดงตนเป็นเจ้าของผลงาน ซึ่งจริง ๆ แล้ว เป็นของผู้อื่น ในบริบททางการศึกษา มีคำจำกัดความของ Plagiarism ที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับสถาบัน ทั้งนี้ Plagiarism ถือเป็นการละเมิดคุณธรรมทางวิชาการ และ เป็นการละเมิดจรรยาบรรณทางวารสารศาสตร์ ผู้ที่ทำการ Plagiarise มักจะได้รับการลงโทษ เช่น การถูกระงับ ไล่ออกจากโรงเรียน หรือ ที่ทำงาน การถูกปรับ แนวคิดสมัยใหม่ของ Plagiarism ว่าเป็นการกระทำที่ผิดศีลธรรมนั้น เกิดขึ้นครั้งแรกในยุโรป ในศตวรรษที่ 18 โดยทั่วไป Plagiarism ไม่ใช่อาชญากรรมในตัวของมันเอง แต่เป็นเช่นเดียวกับการฉ้อโกง ปลอมแปลง ซึ่งสามารถถูกลงโทษในศาลจากความผิดด้านการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ ในแวดวงวิชาการ และ อุตสาหกรรม Plagiarism เป็นความผิดทางจริยธรรมที่ร้ายแรง เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งกำหนดโดยกฎหมายลิขสิทธิ์ Plagiarism อาจไม่เหมือนกันในทุกประเทศ บางประเทศ เช่น อินเดีย โปแลนด์ ถือว่า Plagiarism เป็นอาชญากรรม มีหลายกรณีที่คนถูกจำคุกในข้อหาลอกเลียนผลงาน ในประเทศอื่น ๆ Plagiarism อาจถือเป็นเพียงความไม่ซื่อสัตย์ทางวิชาการ
ความหมายของคำว่า Plagiarism คือ อะไร
คำว่า Plagiarism (‘pleɪ.dʒər.ɪ.zəm, ‘เพล้-เจอ-ริ-ซึ่ม) เริ่มปรากฏในภาษาอังกฤษในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 มีรากศัพท์มาจากคำว่า “plagion” ซึ่งเป็น ภาษากรีก ซึ่งคำ ๆ นี้ เป็นรากศัพท์ของคำภาษาละติน “plagiarius” ที่มีความหมายว่า “ผู้ลักพาตัว”
ในประเทศไทย ราชบัณฑิตยสถาน บัญญัติคำว่า Plagiarism ไว้ 2 คำ คือ “โจรกรรมทางวรรณกรรม” (สาขาวรรณกรรม) กับ “การลอกเลียนวรรณกรรม” (สาขานิติศาสตร์) หมายถึง การกระทำที่เป็นการแอบอ้างงานเขียน หรือ งานสร้างสรรค์ดั้งเดิมของผู้อื่นทั้งหมด หรือ นำมาบางส่วนมาใส่ หรือ ใช้ในงานของตนเองโดยไม่มีการอ้างอิง แหล่งที่ได้ข้อมูลมาครับ |
คราวนี้มาดูข้อมูลจาก Google Ngram Viewer ในกราฟด้านล่างนี้กันครับ คำว่า “Plagiarism” เริ่มปรากฎใน Literature ในช่วง 1550s–1600s Google Ngram Viewer เป็นแผนภูมิความถี่ของคำนี้โดยใช้จำนวน n-gram ที่พบในแหล่งข้อมูล Literature (ตั้งแต่ปี 1550 ถึง 2019) จากคลังข้อความภาษาอังกฤษของ Google ในสาขาภาษาศาสตร์เชิงคำนวณและความน่าจะเป็นนั้น n-gram คือ ลำดับที่ต่อเนื่องกันของจำนวนรายการของข้อความหรือเนื้อหาที่ปรากฏคำว่า “Plagiarism” ในช่วงปีดังกล่าวครับ จะเห็นได้ว่า ในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา Plagiarism ปรากฏเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ในข้อความและเนื้อหาที่ถูกเผยแพร่จนถึงปัจจุบัน
Plagiarism เกิดขึ้นในลักษณะใดได้บ้าง
Plagiarism เป็นรูปแบบหนึ่งของความไม่ซื่อสัตย์ทางวิชาการ (Academic Dishonesty)
ความซื่อสัตย์ทางวิชาการ (Academic Integrity) — ความไม่ซื่อสัตย์ทางวิชาการ (Academic Dishonesty) การประพฤติผิดทางวิชาการ (Academic Misconduct) และ การทุจริตทางวิชาการ (Academic Fraud) ต่างเป็นแนวคิดที่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งอ้างถึงการกระทำต่าง ๆ ของนักเรียน นักศึกษา ที่ขัดต่อบรรทัดฐานความซื่อสัตย์ทางวิชาการของโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือ สถาบันการเรียนรู้อื่น ๆ ซึ่งคำจำกัดความของความไม่ซื่อสัตย์ทางวิชาการมักมีบริทบที่แตกต่างกันเล็กน้อย มักจะถูกระบุไว้ในนโยบายสถาบันอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ความไม่ซื่อสัตย์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้ในสถานศึกษาทุกประเภท ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จนถึงระดับบัณฑิตศึกษา ในประวัติศาสตร์ ความไม่ซื่อสัตย์นี้ได้รับโทษในระดับต่าง ๆ (Penalties) |
ในยุโรปสมัยโบราณ นักวิชาการ (Scholar) มีความรอบรู้อย่างยอดเยี่ยมถ่ายทอดความคิดเป็นหนังสือ โดยการเขียนต้นฉบับด้วยลายมือของตนเอง รวมทั้งวิเคราะห์วิจารณ์งานเขียนของนักวิชาการอื่น ๆ ได้อย่างอิสระ ในสมัยนั้นยังไม่มีการพิมพ์ ไม่มีการจัดหน้าหนังสืออย่างเป็นระบบ จึงไม่มีระบบมาตรฐานของการอ้างอิง (Citation) ในแถบเอเชีย นับย้อนหลังไปเมื่อหลายพันปีก่อนในประเทศจีน การสอบบรรจุข้าราชการมีการทุจริตการสอบทั้ง ๆ ที่มีโทษถึงตายทั้งผู้เข้าสอบและผู้คุมสอบ ในสหรัฐอเมริกาในทศวรรษ 1800-1900 นักศึกษากระทำการทุจริตกันมากมาย เมื่อย่างเข้าศตวรรษที่ 20 องค์กรนักศึกษา (Fraternity) อ้างถึงกระทำการที่เรียกว่า “โรงงานผลิตบทความ” (Essay Mill) โดยการเก็บบทความ (Essay) ของนักศึกษาไว้จำนวนมาก และให้นักศึกษาคนอื่น ๆ นำไปใช้ส่งอาจารย์หมุนเวียนต่อไปเรื่อย ๆ เพียงเปลี่ยนชื่อนักศึกษาในบทความ ส่วนเนื้อหาเหมือนเดิม หรือ แก้ไขเล็กน้อย
Plagiarism เกิดขึ้นในหลายลักษณะ อย่างเช่นกรณีตัวอย่างต่อไปนี้
การนำความรู้และข้อมูลของผู้อื่นมาใช้ โดยไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มา เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ผู้สร้างองค์ความรู้ อีกทั้งยังเป็นการป้องกันตนเองหากว่าบทความที่นำมานั้นไม่ถูกต้อง และผู้นำองค์ความรู้นั้นไปใช้ ควรเขียนบรรยายองค์ความรู้นั้นด้วยลีลาและโวหารของตนเอง
การแปลจากภาษาต่างประเทศ โดยไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มา กฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองผู้เขียนบทความดั้งเดิมไว้ ดังนั้นจึงไม่สามารถแปลประโยคต่อประโยค โดยไม่ขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อนได้ ถ้าในกรณีต้องการนำความรู้จากบทความต่างประเทศมาใช้ ต้องเรียบเรียงและนำเสนอองค์ความรู้นั้นด้วยลีลาและโวหารของตนเอง รวมทั้งอ้างอิงแหล่งที่มาขององค์ความรู้นั้นด้วย
การทำผลงาน โดยไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มา การทำผลงานให้เกิดสิ่งใหม่ ถึงแม้คนเรามีความคิดที่คล้ายกัน แต่ภาษาที่ใช้ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ควรทำความเข้าใจและเรียบเรียงใหม่โดยใช้ภาษาของเราเอง แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าความคิด หรือ คำพูดที่ใช้ จะเป็นสิ่งที่เราคิดเองหรือไม่ ให้อ้างอิงไว้ก่อน
การนำภาษาอื่น คำแปล รูปภาพ แผนภูมิ ตาราง สุนทรพจน์ สำนวน มาใช้ โดยไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มา ต้องอ้างอิงแหล่งที่มาทุกครั้ง แม้ว่าเป็นของตนเอง ผลงานที่เนื้อหาไม่เหมือนกัน แต่รูปภาพที่ปรากฏเหมือนกัน ถือว่าลอกเลียน ผลงานชื่อเรื่องและเนื้อหาเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนตัวเลขในกลุ่มตัวอย่าง ถือว่าลอกเลียน
งานวิจัยเรื่องเดียวกัน แต่นำไปตีพิมพ์เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษในวารสารต่างกัน โดยไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มา ต้องมีการแจ้ง ว่าจะมีการตีพิมพ์ในวารสารอีกฉบับ ทั้งนี้ถ้าตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษแล้วจะตีพิมพ์เป็นภาษาไทยอีก สามารถทำได้โดยขออนุญาตจากสำนักพิมพ์ก่อน พร้อมทั้งระบุให้ชัดเจนว่า งานชิ้นนี้ได้เคยตีพิมพ์แล้วเป็นภาษาอะไร ในวารสารใด
การวิจัยที่ได้รับทุนจากหน่วยงานหนึ่ง ระหว่างทำวิจัยใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวนหนึ่ง และงานวิจัยนั้นยังไม่เสร็จสิ้น ไปขอทุนที่หน่วยงานใหม่ และมีกลุ่มตัวอย่างเพิ่มขึ้นจากเดิม เมื่อได้ผลวิจัยแล้ว นำไปตีพิมพ์ในวารสาร แต่ไม่ได้อ้างอิงแหล่งที่มาของกลุ่มตัวอย่างแรก เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ที่อาจเข้าข่าย Plagiarism ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย บทลงโทษ สำหรับ Plagiarism ตามประกาศคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ไม่ได้ครอบคลุมถึงการคัดลอกผลงานของตนเอง รวมทั้งไม่นำผลงานของตนเองในเรื่องเกียวกัน ไม่เผยแพร่ในวารสารมากกว่าหนึ่งฉบับ ในลักษณะที่จะทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นผลงานใหม่ ซึ่ง ส.ก.อ. กำลังพิจารณาและหาแนวทางดำเนินการ
การหลีกเลี่ยง Plagiarism
เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยง Plagiarism จึงควรอ้างอิงงานของผู้อื่นด้วยการ Quoting, Paraphrasing, Summarising
การอ้างคำพูด หรือ การคัดลอกข้อความ โดยใส่เครื่องหมายคำพูดกำกับไว้ (Quoting)
การถอดความ (ปรับเปลี่ยนประโยค แต่ยังคงไว้ซึ่งแนวคิดเดิม) (Paraphrasing)
การสรุปความ (Summarising)
โปรแกรมตรวจสอบ Plagiarism คือ อะไร
โปรแกรมตรวจสอบการลอกเลียนวรรณกรรม (Plagiarism Detection Software) เป็นเครื่องมือช่วยในการตรวจสอบผลงานเพื่อป้องกันการลอกเลียนวรรณกรรม ต่อไปนี้ คือ ตัวอย่างโปรแกรมตรวจสอบ Plagiarism ครับ — turnitin และ อักขราวิสุทธิ์
turnitin
สำหรับผลงานภาษาอังกฤษ turnitin โปรแกรมตรวจสอบการคัดลอกผลงาน (Plagiarism) แสดงผลการเทียบซ้ำเป็นระดับเปอร์เซ็นต์ พร้อมทั้งชี้แหล่งข้อมูลที่ซ้ำ ซึ่งแหล่งข้อมูลที่ใช้ตรวจสอบมาจากอินเทอร์เน็ต บทความวารสารของสำนักพิมพ์ต่าง ๆ และจากผลงานที่นักศึกษาทั่วโลกอัพโหลดขึ้นไปเก็บไว้ในคลังข้อมูลของ Turnitin นอกจากนี้ยังสามารถจัดการและสร้างห้องเรียนออนไลน์ รวมทั้งประเมินและให้คะแนนผลงานของนักศึกษาผ่านทางออนไลน์
อักขราวิสุทธิ์
สำหรับผลงานภาษาไทย อักขราวิสุทธิ์ เป็นระบบตรวจจับการลักลอกวิทยานิพนธ์ โดยตัวระบบได้พัฒนาขึ้นเพื่อป้องกันการลักลอกงานเอกสารอันมีลิขสิทธิ์ในฐานข้อมูล ระบบตรวจสอบความคล้ายคลึงของเอกสารจากฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์และสารนิพนธ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฐานข้อมูลวารสารวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฐานข้อมูลรายงานการวิจัยและหนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และฐานข้อมูลวิกิพีเดีย รองรับไฟล์ .doc หรือ .docx และ pdf ที่มีขนาดไม่เกิน 50 MB การเข้าใช้งานให้กรอกชื่อ นามสกุล อีเมลแอดเดรสของมหาวิทยาลัยเท่านั้น และดาวน์โหลดไฟล์ที่ต้องการตรวจสอบ ระบบจะส่งอีเมลแจ้งผลเมื่อตรวจสอบเสร็จสิ้น และสามารถรอดูรายงานผลการทดสอบเมื่อการตรวจสอบเสร็จสิ้นได้
สรุป: Plagiarism คือ อะไร
Plagiarism ซึ่งหมายถึง การโจรกรรมทางวิชาการ หรือ การคัดลอกผลงาน หรือ ขโมยความคิดของคนอื่น โดยไม่อ้างอิงให้ถูกต้อง เป็นการโจรกรรม หรือ การลอกเลียนวรรณกรรม กล่าวคือ เป็นการลอกงานเขียน ความคิด หรือ งานสร้างสรรค์ดั้งเดิมทั้งหมด หรือ บางส่วนที่เหมือน หรือ เกือบเหมือนงานดั้งเดิมของผู้อื่นมาแอบอ้างเป็นงานดั้งเดิมของตนเอง
ในทางวิชาการ Plagiarism โดยนักเรียน นักศึกษา อาจารย์ หรือ นักวิจัย ถือเป็น ความไม่ซื่อสัตย์ทางวิชาการ (Academic Dishonesty) และผู้กระทำผิดอาจถูกลงโทษ
ปัญหา Plagiarism เป็นปัญหาที่เกิดมานานนับศตวรรษมาแล้ว ซึ่งการพัฒนาทางอินเทอร์เน็ตที่บทความปรากฏในรูปของอีเล็กทรอนิกส์ ทำให้งานคัดลอกทำได้เพียง “ลอก” ข้อความในเว็บมา “ใส่” ไว้ในอีกเว็บหนึ่งอย่างง่ายดายที่เรียกว่า “การคัดลอก-แปะ” Plagiarism ต่างกับการละเมิดลิขสิทธิ์อยู่บ้าง แม้ทั้งสองคำนี้ใช้กับพฤติกรรมที่คล้าย ๆ กัน เพียงแต่เน้นการละเมิดที่ต่างมุมกัน การละเมิดลิขสิทธิ์เป็นการละเมิดสิทธิ์ด้วยการไม่บอกกล่าวกับผู้ถือลิขสิทธิ์ แต่ Plagiarism เกี่ยวข้องกับการสร้างชื่อเสียงให้ตนเองด้วยการแอบอ้างว่าตนเป็นผู้เขียน
เพิ่มเติม: ในงานสื่อสารมวลชน Plagiarism ถือเป็นละเมิดจรรยาบรรณทางวารสารศาสตร์ นักข่าวที่ถูกจับได้โดยทั่วไปจะถูกลงโทษทางวินัยตั้งแต่พักงานถึงการถูกให้ออกจากงาน สำหรับบุคคลทั่วไปที่ถูกจับได้ว่าทำ Plagiarism หรือ ทางงานหนังสือพิมพ์มักอ้างว่าได้กระทำลงไปโดยไม่ได้ตั้งใจ โดยลืมใส่อ้างอิง หรือ ใส่คำประกาศกิตติคุณ ที่เหมาะสมไว้ |
บทความ “Plagiarism คือ อะไร?” ได้รับการรวบรวม และ เรียบเรียง จากหลายแหล่งที่มา — [1], [2], 3, [4], [5], [6]
บทความโดย ทีมนักเขียน HW
Academic Writing Experts
LINE id: @orderwork
🆕 Live Chat 💬 คลิ๊กที่นี่
Facebook Messenger 📱 คลิ๊กที่นี่
📖 คลิ๊กเพื่ออ่านบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
HW ให้บริการ รับตรวจและแก้ไข Plagiarism |