การเขียน Essay คือ อะไร? Expository or Persuasive?
ที่มา รูปแบบการเขียน
การเขียน Essay คือ การเขียนอธิบาย (Expository)
เป็นข้อเขียนที่อธิบายหรือบอกถึงสารสนเทศ ประกอบด้วย
1) เรียงความเปรียบเทียบความเหมือนและความต่าง (Compare-contrast essay) เป็นข้อเขียนที่แสดงถึงความคล้ายคลึงและความแตกต่างระหว่างสิ่งสองสิ่ง
2) เรียงความเกี่ยวกับวิธีการ (How-to essay) เป็นข้อเขียนที่บอกผู้อ่านถึงวิธีการทำ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง
3) เรียงความที่เป็นสารสนเทศ (Information essay) เป็นข้อเขียนที่ให้สารสนเทศตามลำดับที่เป็นเหตุผล
การเขียน Essay คือ การเขียนโน้มน้าว (Persuasive)
เป็นข้อเขียนที่นำเสนอความคิดเห็นของผู้เขียนและพยายามโน้มน้าวให้ผู้อ่านเห็นด้วย ประกอบด้วย
1) เรียงความที่เป็นความคิดเห็น (Opinion essay) เป็นข้อเขียนที่แสดงความคิดเห็น ทรรศนะ หรือความเชื่อของผู้เขียนที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าเป็นข้อเท็จจริง
2) เรียงความที่กล่าวถึงปัญหาและการแก้ไข (Problem-solution essay) เป็นข้อเขียนที่กล่าวถึงปัญหาและโน้มน้าวผู้อ่านให้เชื่อว่า วิธีการแก้ปัญหาของผู้เขียนสามารถแก้ปัญหาได้
3) เรียงความที่กล่าวถึงการสนับสนุนและการคัดค้าน (Pro-con essay) เป็นข้อเขียนที่ประเมินข้อดี ข้อเสียของความคิดหรือสถานการณ์
Steele (2009) แบ่งรูปแบบการเขียนหลักออกเป็น 5 ประเภทที่มีจุดประสงค์เฉพาะในการเขียนแตกต่างกัน ซี่งในแต่ละประเภทยังสามารถแบ่งเป็นรูปแบบย่อยได้อีก ดังนี้
- การเขียนสร้างสรรค์ (Creative writing) มีจุดประสงค์ที่จะให้ความบันเทิงแก่ผู้อ่าน
- การเขียนบรรยาย (Descriptive writing) มีจุดประสงค์ที่จะบรรยายถึงบุคคล สถานที่ หรือเหตุการณ์ จนกระทั่งผู้อ่านมีภาพของสิ่งนั้นในใจ ผู้เขียนต้องให้รายละเอียดที่ชัดเจน เป็นจริงเป็นจัง จนเสมือนกับการระบายสีภาพสำหรับผู้อ่าน
- การเขียนอธิบาย (Expository writing) มีจุดประสงค์ที่จะให้สารสนเทศแก่ผู้อ่าน ข้อเขียนประเภทนี้ได้แก่ การธิบาย การแนะแนวทาง การเปรียบเทียบความเหมือนและความต่าง เป็นต้น
- การเขียนเล่าเรื่อง (Narrative writing) มีจุดประสงค์ที่จะบรรยายถึงประสบการณ์หรือเหตุการณ์ หรือลำดับเหตุการณ์ในลักษณะที่เป็นเรื่องราว เช่น การเล่าเรื่องส่วนบุคคล
- การเขียนโน้มน้าว (Persuaive writing) มีจุดประสงค์ที่จะให้ความเห็นเพื่อชักจูงความคิดของผู้อ่าน โดยอาศัยหลักฐานมาสนับสนุน เช่น การเขียนเชิงอภิปรายให้เหตุผล เป็นต้น
California Technical Assisstance Center (2010: Online) แบ่งงานเขียนเป็น 6 ประเภท (Genres) แต่ละประเภทมีหลายรูปแบบ (Form) ดังนี้
- การเขียนบรรยาย (Descriptive) มีรูปแบบการเขียน คือ รายงานการสังเกตและข้อเขียนเชิงบรรยาย การเขียนประเภทการบรรยายนี้ อาจเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในการเขียนประเภท การเล่าเรื่องและการอธิบาย
- การประพันธ์บทกวี (Poetry) มีรูปแบบการเขียน คือ บทกวีที่ไม่ใช้จังหวะ บทกวีที่ใช้จังหวะ บทกวีที่เป็นแบบแผน (แบบแผนของโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน) หรือรูปแบบอื่นๆ
- การเขียนเล่าเรื่อง (Narrative) มีรูปแบบการเขียน ได้แก่ นวนิยายอิงเรื่องจริง นวนิยายเชิงประวัติศาสตร์ นวนิยายวิทยาศาสตร์ อัตชีวประวัติ ชีวประวัติ การเล่าเรื่องส่วนบุคคล เรื่องจินตนาการ เรื่องที่เกี่ยวกับอภินิหาร นิทานพื้นบ้าน เทพนิยาย ตำนาน และเรื่องผจญภัย
- การเขียนอธิบาย (Expository) มีรูปแบบการเขียน ได้แก่ รายงานวิจัย การสรุปความ ความเรียงเชิงวิเคราะห์ การอธิบายกระบวนการ เป็นต้น
- การเขียนโน้มน้าว (Persuasive) มีรูปแบบการเขียน ได้แก่ ความเรียง ป้ายโฆษณา ป้ายประกาศ บทความ บทบรรณาธิการ โปสเตอร์
- การเขียนส่วนตัว (Personal) มีรูปแบบการเขียน ได้แก่ อีเมล บันทึกส่วนตัว รายการข่าวสาร จดหมาย บันทึกสั้นๆ และบัตรต่างๆ
นักวิชาการกลุ่มที่สองแบ่งรูปแบบการเขียนไว้หลากหลายตามจุดประสงค์เฉพาะของการเขียน โดยไม่แยกเป็นรูปแบบหลักและรูปแบบย่อย ถือว่าแต่ละรูปแบบมีลักษณะเฉพาะ ตามจุดประสงค์ในการเขียนนั้นๆ ดังนี้
LATTC Writing Center (2007) แนะนำถึงวิธีการเขียนเรียงความแบบต่างๆไว้ว่า เรียงความเป็นงานเขียนสั้นๆที่อภิปราย บรรยายหรือวิเคราะห์สิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือรายงานข้อมูล ทั้งในลักษณะโดยตรงหรือโดยอ้อม หรือในลักษณะต้องใช้ความคิดอย่างหนักหรือแบบเบาสมอง ส่วนใหญ่จะเขียนในนามของสรรพนามบุรุษที่หนึ่งหรือสาม รูปแบบการเขียนที่ใช้กันมาก ได้แก่
- แบบบรรยาย (Descriptive) เป็นแบบที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับบางสิ่งบางอย่างว่า ดูเป็นอย่างไร สัมผัสอย่างไร รสเป็นอย่างไร กลิ่นเป็นอย่างไร เพื่อให้ความรู้สึกแก่ผู้อ่าน โดยทั่วไป จึงใช้รายละเอียดของประสาทสัมผัส ข้อเขียนอาจเป็นการบรรยายเป็นรายการ คือให้รายละเอียดจุดต่อจุด หรือบรรยายเป็นเรื่องราว เพื่อให้ผู้อ่านสนใจเค้าโครงเรื่องและแก่นของเรื่องที่บรรยาย เช่น บรรยายถึงต้นไม้ในสวนหลังบ้านของฉัน การไปเยี่ยมผู้ป่วยเด็กในโรงพยาบาล หรือนักกีฬาทำอย่างไรเพื่อไปสู่โอลิมปิก
- แบบให้นิยาม (Definition) เป็นข้อเขียนที่พยายามให้นิยามคำเฉพาะหรือให้มโนทัศน์ ที่เป็นนามธรรม ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ลึกไปกว่าความหมายในพจนานุกรม อาจต้องอธิบายถึงเหตุผลว่า “ทำไม” คำนั้นจึงนิยามอย่างนั้น การเขียนอาจเป็นการนิยามโดยตรง หรือเขียนเป็นเรื่องราวที่แฝงนัยให้ผู้อ่านอนุมานความหมายเอง เช่น ความหมายของความรัก ความหมายที่แท้จริงและความสำคัญของความซื่อสัตย์ ความหมายของครอบครัวที่ลึกไปกว่าความสัมพันธ์ทางสายเลือด
- แบบเปรียบเทียบความเหมือนหรือความต่าง (Compare/Contrast) เป็นข้อเขียนที่อภิปรายถึงความคล้ายคลึงและความแตกต่างของสิ่งสองสิ่งหรือบุคคล ความคิด สถานที่ ฯลฯ อาจเป็นข้อเขียนที่อภิปรายอย่างไม่ลำเอียง หรือจูงใจให้ผู้อ่านเห็นประโยชน์ของฝ่ายหนึ่ง อาจเป็นข้อเขียนง่ายๆที่ทำให้ผู้อ่านสนุกสนาน หรือลงลึกให้หยั่งรู้ถึงธรรมชาติของมนุษย์ ข้อเขียนอาจอภิปรายทั้งความคล้ายคลึงและความแตกต่าง หรืออาจอภิปรายเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง เช่น ความคล้ายคลึง และความแตกต่างระหว่างเมืองสองเมือง หรือระหว่างบุคคลสองคน
- แบบเหตุและผล (Cause/Effect) เป็นการอธิบายว่า เหตุใดเหตุการณ์หนึ่งจึงเกิดขึ้นและเกิดขึ้นอย่างไร มีผลอะไรเกิดขึ้นจากประสบการณ์นั้น เรียงความนี้เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์หรือประสบการณ์ตั้งแต่สองอย่างขึ้นไป ข้อเขียนอาจอภิปรายทั้ง “เหตุ” และ “ผล” เช่น ทำไมภูเขาไฟจึงระเบิด และอะไรเกิดขึ้นหลังจากนั้น
- แบบเล่าเรื่อง (Narrative) ข้อเขียนจะเป็นเรื่องเล่าหรือเรื่องสั้น เป็นการเล่าถึงประสบการณ์ส่วนบุคคล มักเขียนในรูปสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง อาจเล่าถึงรูปแบบชีวิตของคนๆหนึ่ง หรือประสบการณ์ประจำวันโดยทั่วไป เช่น น้องชายพาฉันกับตาไปตกปลา ประสบการณ์เฉียดตายของข้าพเจ้าที่ชายทะเล เป็นต้น
- แบบอธิบายกระบวนการ (Process) เป็นการอธิบายถึงการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าทำอย่างไร โดยทั่วไปอธิบายการกระทำที่แสดงออกมาตามลำดับ รูปแบบการเขียนจะเป็นคำและทำเป็นขั้นตอน หรืออาจเขียนในรูปแบบการเล่าเรื่อง พร้อมกับคำแนะนำหรือคำอธิบายเป็นช่วงๆไปโดยตลอด
- แบบอภิปรายให้เหตุผล (Arguementative) เป็นข้อเขียนที่พยายามโน้มน้าวผู้อ่านให้เห็นด้วยกับความเห็นของผู้เขียน อาจเขียนแบบให้คิดอย่างจริงจังหรือแบบสนุกสนาน แต่ต้องสร้างความเชื่อมั่นต่อความเห็นของผู้เขียน อาจเขียนอย่างตรงไปตรงมา หรือค่อยๆโน้มน้าวโดยอาศัย การใช้คำ เช่น เราควรใช้การขนส่งสาธารณะแทนการขับรถ หมาย่อมดีกว่าแมว เป็นต้น
- แบบวิเคราะห์วิจารณ์ (Critical) เป็นข้อเขียนที่วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน และ/ หรือ วิธีการที่บุคคลใช้ทำงาน โดยเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงจุดสำคัญอย่างสั้นของเนื้อหาในหนังสือ ภาพยนตร์หรืองานศิลปะ จากนั้นอภิปรายข้อดีที่ผู้เขียนหรือผู้สร้างสรรค์งานบรรลุจุดมุ่งหมายอย่างไร แล้วให้ความเห็น เช่น จุดแข็งจุดอ่อนของภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้แต่งเสนอตัวละครเอกอย่างไร เป็นต้น
![]() ✅ ติดตามข่าวสารและข้อมูลเกี่ยวกับ COVID-19 |